“การกลายพันธุ์ของไวรัส” ถือเป็นเรื่องปกติในวิวัฒนาการของเชื้อโรค โดยการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสในโรค ได้มีการพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ เพื่อมาสู้กับโรค
ทว่าในส่วนของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โรคระบาดระดับโลกขณะนี้ แม้จะมีการฉีดวัคซีนไปในหลายประเทศ แต่ไวรัสก็พัฒนาตนเองเป็นสายพันธุ์ต่างๆ จนอาจลดทอนประสิทธิภาพของวัคซีนลงได้
ในเสวนา SARS-CoV-2 Variants of Concern (VOC): What is the concern? ไวรัสโควิด 19 กลายพันธุ์ มีความน่ากังวลแค่ไหน วานนี้ (16ก.พ.)
“นพ.โอภาส พุทธเจริญ” หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่าจากการศึกษาการกลายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 ในคนตั้งแต่การระบาดรอบแรกและการระบาดระลอกใหม่ พบว่าไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งจริงๆถือเป็นธรรมชาติของไวรัสที่มีการกลายพันธุ์อยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่ไวรัสจะกลายพันธุ์ใน 1-2 ตำแหน่งของสารพันธุกรรมต่อเดือน และจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ไม่มีการหยุดยั่งการแพร่กระจายเชื้อ การรักษา หรือการป้องกัน
ไวรัสโควิด-19 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาของการแพร่กระจายเชื้อ ขึ้นอยู่กับตรวจว่ามาจากไหน ติดเองในประเทศ หรือติดมาจากต่างประเทศ ซึ่งคนไทยคนแรกที่ตรวจพบว่าติด โควิด-19 เป็นคนไทยที่เดินทางมาจากประเทศจีน และตอนนั้นเป็นสายพันธุ์ L หรือที่เรียกกันว่าสายพันธุ์อู่ฮั่น ส่วนที่มีการระบาดระลอกใหม่ เป็นสายพันธุ์ B.1.36.16 มาจากเมียนมา ซึ่งขณะนี้มีการรักษา ป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจาย เพราะหากเชื้อไวรัสอยู่นานก็จะมีการกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ตำแหน่งของโรคโควิด-19 ที่กลายพันธุ์มีความสำคัญ เพราะมีผลทำให้เกิดการติดเชื้อเร็ว และมีบางสายพันธุ์ มีการหลบภูมิคุ้มกัน อาจทำให้การใช้วัคซีนไม่ได้ผล โดยตอนนี้สายพันธุ์ที่มีผลต่อการควบคุมการระบาด การรักษา และการตอบสนองวัคซีนในประเทศไทย มี 3 สายพันธุ์ คือ

1.สายพันธุ์ B.1.1.7(GR,G) ประเทศที่พบครั้งแรกในอังกฤษ เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2563 โดยตำแหน่งที่กลายพันธุ์เป็นตำแหน่งพิเศษ อยู่บนผิวไวรัส ทำให้ไวรัสมีคุณสมบัติจับผิวเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น ข้อมูลในห้องทดลองพบว่า สายพันธุ์นี้มีการแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ประมาณ 40-70% นอกจากนี้ ปัจจุบันมีหลักฐานจากรพ.อังกฤษหลายแห่ง พบว่า สายพันธุ์นี้มีความรุนแรงขึ้น ทำให้การป่วยและเสียชีวิตมากกว่าเดิม
2. สายพันธุ์B.1.351(GH,G) ประเทศที่พบครั้งแรกที่ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2563 ทำให้ไวรัสจับตัวเซลล์ได้ดีขึ้น ติดเชื้อง่ายขึ้น สามารถหนีภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนได้ดีขึ้น อาจจะมีผลต่อประสิทธิภาพวัคซีนลดลง เพราะเป็นวัคซีนที่พัฒนาโดยใช้สายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งมีหลายประเทศมีการทดสอบวัคซีน พบว่าประสิทธิภาพวัคซีนลดลงเมื่อมีผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้
3.สายพันธุ์P.1(GR) ประเทศที่พบครั้งแรกคือประเทศบราซิล เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2563 พบว่าพลาสมาหรือระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จับกับไวรัสเหล่านี้ได้น้อยลงจริง ๆ เมื่อเทียบกับไวรัสสายพันธุ์ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเหล่านี้
“จุฬาฯ ได้มีการสำรวจสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย จำนวน 189 ตัวอย่าง พบว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.7 มี 9 ราย ซึ่งบางคนเดินทางมาจากอังกฤษ และมาจากประเทศอื่น เป็นทั้งคนไทยและต่างชาติ และล่าสุดเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาได้พบคนไทยคนแรกที่มี สายพันธุ์B.1.351และวันนี้ (16 ก.พ.2564) จะมีการรายงานเพิ่มอีก 2 ราย รวมแล้วตอนนี้พบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์B.1.351 อย่างน้อย 3 รายที่เข้ามาในไทย ซึ่งข้อมูลทั้งหมดเป็นการตรวจจากผู้ที่เข้ามาในไทย ยังไม่มีการระบาดจากคนไทยสู่คนไทย หรือระบาดในชุมชน” นพ.โอภาส กล่าว
สำหรับปัจจัยที่ทำให้การกลายพันธุ์จนเชื้อไวรัสมีปัญหา นั้น เกิดจากตัวไวรัสเอง และภูมิคุ้มกันของคน และสิ่งมีชีวิตที่ไวรัสอยู่ เพราะในปกติร่างกายของคนหรือสิ่งมีชีวิตมีไวรัสอยู่แล้ว เพียงแต่มีการใช้ยาต้านไวรัส หรือมีภูมิคุ้มกันที่ดี ภูมิคุ้มกันจะต้านไวรัสได้เอง และมีระยะเวลาการหายที่เร็ว แต่หากคนๆ นั้น มีภูมิคุ้มกันที่ไม่ดี และมีโรคประจำตัวมากมาย หรือทานยากดภูมิคุ้มกัน อย่าง การกินยามะเร็ง ก็อาจทำให้ผู้ป่วยมะเร็ง หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวมากๆ ผู้สูงอายุ ซึ่งภูมิคุ้มกันไม่ได้ดีเท่ากับคนปกติ คนหนุ่มสาว เด็ก เมื่อติดโควิด-19 ย่อมทำให้การกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และการต้านไวรัสได้ผลช้า หรือไม่ได้ผลเลย
ดังนั้น การป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายโควิด-19 สู่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุติดโควิด-19 มีความจำเป็นอย่างมาก
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่าประเทศไทยจะมีไวรัสโควิด-19 กี่สายพันธุ์นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะตรวจพบเจอได้มากน้อย ส่วนการแพร่กระจายของโควิด-19 ในชุมชนของไทย เป็นไวรัสสายพันธุ์ B.1.36.16 ซึ่งหากยังมีการแพร่กระจายไปอีก 3-4 เดือน อาจจะมีการกลายพันธุ์ และจะเป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นของไทยเองก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม
ขณะนี้ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ มีการกลายพันธุ์ ซึ่งความรุนแรงจะแตกต่างกันออกไป เช่น ไวรัสสายพันธุ์ B 1.1.7 เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2564 อังกฤษได้รายงานว่า มีการกลายพันธุ์อีกรอบ โดยมีคนไข้ประมาณ 10 กว่าคน มีลักษณะคล้ายสายพันธุ์แอฟริกา มีการตอบสนองวัคซีนน้อยลง ทั้งที่คนไข้เหล่านี้ไม่ได้เดินทางไปแอฟริกา
“การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดีที่สุด คือการบล็อกทางเข้าของประเทศ คือมีการตรวจผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศอย่างเข้มข้น ตั้งแต่สนามบิน ก่อนเข้าสนามบิน ไปสถานที่กักกันของรัฐ มีการติดตามไวรัส ตรวจเชื้อจนกกว่าจะไม่พบเชื้อ ขณะที่ประชาชนทั่วไป ต้องสวมใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างทางสังคม ดูแลตัวเอง และมีการฉีดวัคซีน ส่วนทีมจุฬาฯ จะมีการติดตามลักษณะของไวรัสว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ศึกษาพฤติกรรมไวรัส และการใช้วัคซีนเพื่อนำไปสู่การดำเนินการในเชิงนโยบายต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว