ชีวิตวิถีใหม่ นิวนอร์มอล หลัง โควิด-19

ชีวิตที่ต้องอยู่บนบรรทัดฐานใหม่ (New Norm) และวิถีปฏิบัติใหม่ หรือ นิว นอร์มอล (New Normal)

นิว นอร์มอล ไม่ใช่ศัพท์บัญญัติใหม่ แต่มีมาตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี ค.ศ.2007-2009

บิลล์ กรอส (Bill Gross) ผู้ก่อตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ชาวอเมริกัน เป็นคนแรกที่พูดคำนี้ เพื่อเตือนสติชาวอเมริกันทั้งหลายว่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจ ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะฉะนั้นอย่าได้หวังว่าชีวิตจะกลับมาอู้ฟู่ได้เหมือนเดิม ท่ามกลางหนี้สินมหาศาลและเศรษฐกิจที่กำลังถดถอย

และในปี 2020 คำว่า นิว นอร์มอล (New Normal) ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในวิกฤติการระบาดของ COVID-19 คราวนี้ไม่ได้เตือนแค่ชาวอเมริกันเท่านั้น แต่เป็นการบอกคนทั้งโลกว่า ชีวิตหลังจากนี้จะเป็นเรื่องใหม่ๆที่ไม่เหมือนเดิม ทั้งเรื่องการกิน การอยู่ การใช้ชีวิต

หนึ่งในความไม่เหมือนเดิมที่หลายคนเริ่มปรับตัวและเคยชินมากขึ้น ก็คือ การเว้นระยะห่างทางกายภาพ หรือ Physical Distancing ซึ่งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้กำหนดให้ใช้แทนคำว่า การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing

แดเนียล อัลดริช ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์น เป็นคนหนึ่งที่ออกมาสนับสนุนการใช้คำว่า เว้นระยะห่างทางกายภาพ เพราะทำให้มองเห็นภาพชัดเจนว่า เป็นระยะห่างทางร่างกาย ไม่ใช่การเชื่อมโยงทางสังคม

อัลดริช บอกว่า จำเป็นต้องสื่อสารให้ผู้คนเข้าใจความแตกต่างของคำสองคำนี้ คนเรายังควรมีการเชื่อมโยงทางสังคมด้วยการรักษาระยะห่างทางกายภาพ การใช้คำว่า ระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อาจทำให้ เกิดการเข้าใจผิดว่า ต้องตัดขาดการเชื่อมต่อกับสังคม ครอบครัว หรือคนที่รัก ซึ่งจะทำให้ได้ผลออกมาตรงข้ามกับที่ต้องการสื่อสารหรือต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

เขาให้เหตุผลว่า คำว่า รักษาระยะห่างทางสังคม เป็นคำที่ใช้ในทางระบาดวิทยาและสาธารณสุข หมายถึง การสร้างพื้นที่ทางกายภาพระหว่างคน 2 คน และหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก

“ผมคิดว่าความพยายามที่จะทำให้การแพร่ระบาดของไวรัสช้าลงนั้น ควรจะสนับสนุนให้สังคมแน่นแฟ้นกันมากขึ้น เพียงแต่ต้องรักษาระยะห่างทางกาย” อัลดริชบอก

ขณะที่ มาเรีย แวน เคอร์โคฟ (Maria Van Kerkhove) นักระบาดวิทยาขององค์การอนามัยโลก บอกว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันก้าวไกลไปมาก เราสามารถเชื่อมโยงกับสังคมได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกัน และที่ WHO เปลี่ยนมาใช้คำว่า เว้นระยะห่างทางกายภาพ แทน เว้นระยะห่างทางสังคม เพราะเรายังคงต้องการ ให้ผู้คนติดต่อสื่อสารกัน

เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ เราจะได้เห็นภาพคนนั่งเก้าอี้ตัวเว้นตัวในเครื่องบิน รถโดยสารสาธารณะ หรือแม้แต่บริการขนส่งสาธารณะรูปแบบต่างๆ

การยืนห่างกันอย่างน้อย 1.5-2 เมตรในการรอเพื่อใช้บริการร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะในร้านอาหาร การกินอาหารคนเดียว หรือจัดโต๊ะห่างกัน และไม่นั่งรวมกันหลายๆคน น่าจะเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากนี้

พฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเปลี่ยนแปลงไป คนจะใส่หน้ากากเข้าหากันมากขึ้น แต่เป็นการใส่หน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค ไม่ใช่ความหมายเชิงเปรียบเทียบ การใส่หน้ากากอนามัย คือ นิว นอร์มอล (New Normal) ของแท้ ในเวลาที่ต้องเดินทางออกจากบ้านทุกครั้ง

เจลแอลกอฮอล์ และ แอลกอฮอล์ จะเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีติดกระเป๋าไว้ตลอด เหมือนที่คนสูงอายุต้องมียาดมยาหม่องติดตัว เช่นเดียวกับถุงมือ เฟซชิลด์ ที่จะเป็นอุปกรณ์ซึ่งคนหันมาซื้อหาและนำมาใช้เป็นของปกติธรรมดา รวมถึงการล้างมือซึ่งเป็นสุขนิสัยที่เคยมีความพยายามให้คนมีพฤติกรรมล้างมือบ่อยๆแต่ไม่สำเร็จหันมาล้างมือบ่อยขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องบังคับหรือแนะนำ

นักวิเคราะห์ประเมินว่า โควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นเทรนด์ในอนาคตให้เกิดเร็วขึ้น โดยสิ่งที่คาดกันว่าจะกลายเป็น นิว นอร์มอล หลังโควิด-19 ก็เช่น พฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ต การเรียนออนไลน์หรือการทำงานที่บ้าน การประชุมออนไลน์ การสั่งซื้อสินค้า การทำธุรกรรมทางการเงิน การดูละคร ดูหนังผ่านระบบออนไลน์

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ LINE @securitywvo ที่นี่


เพิ่มเพื่อน
ติดต่อเรา